ข้อแนะนำ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาคอนกรีตหลุดร่อน
1. ควบคุมค่ายุบตัวคอนกรีตที่เทพื้น ไม่ควรเกิน 10 ซม. ไม่ทำการเพิ่มค่ายุบตัวของคอนกรีต โดยการเติมน้ำเพิ่มลงในคอนกรีตที่หน้างานอีก โดยหากต้องการเพิ่มค่ายุบตัวให้มากกว่า 10 ซม. ควรใช้น้ำยาลดน้ำประเภท Superplasticizer
2. ไม่ควรทำการแต่งผิวหน้าในขณะที่ยังมีการเยิ้มที่ผิวหน้าของคอนกรีต เพราะจะเป็นการทำให้น้ำที่กำลังจะลอยขึ้นมาที่ผิวหน้าถูกกักกลับไปใต้ผิวคอนกรีตอีก ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการดึงฝุ่นและทรายขึ้นมาอยู่ที่ผิวหน้าอีกด้วย
3. ห้ามสาดปูนซีเมนต์ผง เพื่อดูดซับน้ำที่เยิ้มบนผิวหน้าคอนกรีต แต่ถ้าต้องการเอาน้ำที่เยิ้มออกไปจากผิวหน้าคอนกรีตก็ให้ใช้สายยางดูดออก หรือใช้ที่ปาดน้ำทำการปาดน้ำที่อยู่ที่ผิวหน้าคอนกรีตแทนการสาดปูนซีเมนต์ผง
4. ทำการบ่มคอนกรีตทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการแต่งผิวหน้าและคอนกรีตเริ่มแข็งตัว โดยทำการบ่มอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของคอนกรีตและโครงสร้าง อาจใช้ได้หลายวิธี เช่น การบ่มโดยใช้วัสดุอุ้มน้ำคลุมแล้วฉีดน้ำให้ชุ่ม, ฉีดน้ำให้เปียกชื้น หรือใช้แผ่นพลาสติกคลุม เป็นต้น สำหรับงานที่ต้องการความสวยงามของพื้นผิวควรหลีกเลี่ยงการบ่มโดยการคลุมด้วยกระสอบหรือทราย เนื่องจากอาจจะทิ้งคราบตกค้างอยู่บนพื้นผิวคอนกรีตหลังจากการบ่มได้
วิธีแก้ไขผิวหน้าของคอนกรีตหลุดร่อน
หากผิวหน้าหลุดร่อนน้อยกว่า 3/8 นิ้วหรือประมาณ 1 ซม. สามารถทำการซ่อมได้โดยวิธีเคลือบผิวหน้าเดิมด้วย Slurry หรือที่เรียกว่า Slurry Seal แต่หากผิวหน้าที่หลุดร่อนนั้นลึกกว่า 3/8 นิ้วหรือประมาณ 1 ซม. ควรทำการเททับหน้าใหม่หรือวิธี Overlay ด้วยคอนกรีตหรือแอสฟัลส์ตามที่เห็นสมควรกับการใช้งานหรือความทนทาน
เขียนโดย : ดร.ปัณฑ์ ปานถาวร อภินันท์ บัณฑิตนุกูล , cpacacademy.com